Wednesday, August 10, 2016

ตอนที่ ๑ เส้นทางชีวิตในวัยเด็ก ร่มเย็นในร่มญาติ




ข้าพเจ้าชื่อว่า เด็กชายอินทร์  บ้านเกิดอยู่ที่บ้านทุ่งยวน ต.ช้างซ้าย อ.พระพรหม        จ.นครศรีธรรมราช   ถิ่นปักษ์ใต้บ้านเรา ดินแดนด้ามขวานทองของประเทศไทย เกิดเมื่อวันพุธ ที่ ๒๓ เมษายน ๒๕๑๗ เป็นลูกคนที่ ๔ ในบรรดาพี่น้อง ๘ คน  ผู้ชาย ๕ คน ผู้หญิง ๓ คน เกิดในสังคมเกษตรกรรม พ่อแม่มีอาชีพทำนาและค้าขาย ฐานะทางบ้านอยู่ในระดับปานกลาง ชีวิตในวัยเด็กก็เล่นซนไปตาประสาเด็ก เที่ยวยิงนกตกปลากับเพื่อนในวัยเดียวกัน 


พออายุครบ ๗ ขวบ เมื่อปี ๒๕๒๔  พ่อแม่ก็พาไปเข้าโรงเรียนที่โรงเรียนวัดหนา ต.เสาธง อ.ร่อนพิบูลย์ จ.นครศรีธรรมราช ได้อยู่ห้องป.๑/๒ ครูประจำชั้นชื่อ ครูจันทนี ครูท่านนี้ปกติเป็นคนดุมาก แต่ครูใจดีกับข้าพเจ้ามาก ครูมอบหมายงานให้ทำอยู่เรื่อยๆ พอทำงานเสร็จ ครูก็มอบรางวัลให้เป็นประจำ เป็นขนมบ้าง สมุดปากกาบ้าง บางครั้งก็เป็นเงินบ้างครั้งละบาทสองบาท
  
ข้าพเจ้าเรียนอยู่ที่นี่จนจบประถมศึกษาปีที่ ๖ในปี ๒๕๓๐  พอเรียนจบแล้ว     พ่อก็มีแนวคิดว่า จะให้ไปบวชเรียนที่วัดเขาพุทธโคดม จ.ชลบุรี โดยจะนำไปฝากไว้กับหลวงอา ซึ่งเป็นน้องชายของพ่อ บวชอยู่นานแล้วจนสามารถสอบบาลีได้เป็นพระมหาเปรียญ ชื่อว่าพระมหาลำดวน สมาจาโร ระหว่างที่รอหลวงอามารับตัวไปบวช พ่อก็ให้ไปสมัครเรียนไว้ก่อนที่โรงเรียนเฉลิมราชประชาอุทิศ 






ได้ไปเรียนอยู่เพียงวันเดียว หลวงอาก็ส่งข่าวมาว่าให้ไปบวช พ่อจึงถามว่า จะเรียนต่อหรือจะบวช ข้าพเจ้าพอได้ฟังดังนั้นก็นั่งไตร่ตรองเพื่อตัดสินใจว่า จะเลือกอย่างไหนดี ในที่สุดก็ได้บอกกับพ่อว่า ผมจะบวชครับ รู้ไหมครับว่า ทำไมข้าพเจ้าจึงตัดสินใจอย่างนั้น เรื่องนี้มีความเป็นมา ดังจะเล่าดังต่อไปนี้คือ 

ตอนยังเล็กเรียนอยู่ชั้นประถม พ่อกับแม่ให้ไปอยู่กับยายซึ่งอยู่ที่บ้านอีกหลังหนึ่งคนเดียว แต่ก็ไม่ห่างไกลกันมาก เพื่อคอยช่วยเหลือยายเพราะท่านอายุมากแล้ว ยายของข้าพเจ้าชื่อว่า ยายขุ้ม ส่วนตาแท้ๆได้เสียชีวิตไปตั้งแต่แม่ของข้าพเจ้ายังเล็กๆอยู่ ยายก็แต่งงานใหม่กับตาเลี้ยงชื่อว่า ตาพรหม ตอนนี้ท่านย้ายไปอยู่อีกบ้านหนึ่ง ซึ่งอยู่ห่างไกลจากที่นี่  

เมื่อข้าพเจ้ามาอยู่กับยาย ท่านก็ได้สอนให้รู้จักการตักบาตร ได้ชวนไปตักบาตรทุกเช้า เพราะที่หมู่บ้านนี้ หลวงพ่อเจ้าอาวาสและพระภิกษุจากวัดสระแก้ว(หนา)ได้มาบิณฑบาตเป็นประจำ และได้เดินผ่านหน้าบ้านยายด้วย ยายก็พาข้าพเจ้าตักบาตรพระทุกเช้า หลวงพ่อเจ้าอาวาสชื่อว่า หลวงพ่อดำ ท่านจะมีเทคนิคที่ดีมากๆ เพื่อให้เด็กๆอยากมาตักบาตร คือช่วงที่ท่านออกบิณฑบาต ท่านจะให้เด็กวัดเอาลูกจันทร์ใส่ย่ามมาด้วย  ถ้าเห็นบ้านไหนมีเด็กมาตักบาตร ท่านจะมอบลูกจันทร์ให้คนละหนึ่งลูก เด็กเมื่อได้มาแล้วก็มาอวดเพื่อนๆ ใครที่ไม่ได้ก็จะเสียดาย วันต่อมาก็ต้องรีบตื่นแต่เช้าเพื่อที่จะให้ทันมาตักบาตร เพื่อจะได้รับลูกจันทร์จากหลวงพ่อ ลูกจันทร์นั้นเป็นผลไม้ชนิดหนึ่ง พอผลสุกจะมีสีเหลือง มีกลิ่นหอม รสหวาน ทานอร่อย เด็กๆชอบกันมาก ดังนั้นทุกเช้าจะมีเด็กมารอตักบาตรเยอะมาก เช้าไหนเด็กคนไหนไม่ได้ลูกจันทร์จากหลวงพ่อ แสดงว่าไม่ได้ตักบาตร ซึ่งถือว่า เชยมาก 

 ดังนั้นเด็กทุกคนในหมู่บ้าน จึงต้องรีบตื่นมาตักบาตรในทุกเช้า ทำให้เด็กผูกพันกับการสร้างบุญให้ทานตั้งแต่เล็กๆ ได้คุ้นเคยกับพระ เป็นการปลูกฝังที่ดีมากๆ ทีนี้กลับมาเล่าเรื่องของข้าพเจ้าต่อ





      
  
วันไหนเป็นวันพระ ยายจะยกปิ่นโตไปวัด ก็จะให้ข้าพเจ้าช่วยถือปิ่นโตให้ วันสำคัญทางพระพุทธศาสนา เช่น วันมาฆบูชา วันวิสาขบูชา วันอาสาฬหบูชา ยายก็พาไปเวียนเทียนที่วัด ยายให้ไปช่วยรับธูปเทียนจากพระเมื่อท่านเวียนเทียนเสร็จ เป็นการสอนให้เรียนรู้การอุปัฏฐากพระ สอนให้กราบพระ ประเคนของพระ ทำให้คุ้นเคยกับพระมากขึ้นเรื่อยๆ ต่อมาตาพรหมก็มาบวชเป็นพระจำพรรษาอยู่ที่วัดสระแก้ว(หนา) ช่วงที่โรงเรียนพักเที่ยง ข้าพเจ้าก็จะพาน้องๆมาเยี่ยมหลวงตาที่วัด ท่านก็แจกขนมให้ไปรับประทาน ได้มาช่วยถางหญ้า กวาดใบไม้บริเวณวัด หลวงพ่อเจ้าอาวาสเห็น ก็ได้นำมะขามป้อมดองมาแจกเด็กทุกคน ซึ่งมีรสชาติดีมาก
 ชีวิตของข้าพเจ้าจึงคุ้นกับวัดมาตั้งแต่เล็กๆ นั่นเป็นที่มาของการตัดสินใจบวชในครั้งนั้น พ่อจึงพาไปบวชที่วัดเลียบ เป็นวัดที่อยู่ใกล้บ้านของย่า




 พอบวชเสร็จ หลวงอาก็พาไปอยู่ที่วัดมะนาวหวาน ต.ช้างกลาง อ.ช้างกลาง จ.นครศรีธรรมราช ซึ่งในช่วงนี้หลวงอาได้ย้ายมาสอนบาลีที่วัดนี้แล้ว ข้าพเจ้าจึงไม่ต้องไปจ.ชลบุรี คิดในใจว่า ก็ดีเหมือนกัน จะอยู่่ใกล้บ้าน สามารถไปเยี่ยมบ้านได้ ซึ่งอยู่ไม่ไกลกันมากนัก  

เจ้าอาวาสวัดมะนาวหวานชื่อว่า หลวงพ่อสอน สมณศักดิ์ท่านในตอนนั้นคือ พระครูสถิตวิหารธรรม เจ้าคณะอำเภอฉวาง ต่อมาท่านได้เลื่อนตำแหน่งเป็นรองเจ้าคณะจังหวัดนครศรีธรรมราช และได้เลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญในราชทินนามที่  พระสิริธรรมราชมุนี แต่สามเณรจะเรียกท่านว่า อาจารย์ใหญ่ 

พอมาถึงวัดมะนาวหวาน หลวงอาก็พาไปกราบหลวงพ่อเจ้าอาวาส ท่านก็กล่าวทักทายอย่างเป็นกันเอง รู้สึกอบอุ่นใจ และท่านให้สามเณรนำผ้าอาบน้ำฝนและเครื่องอาบน้ำมาถวายอย่างครบถ้วน โดยอัธยาศัยของหลวงพ่อ ท่านเป็นพระที่ใจดี แต่ชอบความเป็นระเบียบมากๆ ถ้าสามเณรรูปไหนไม่ลงทำวัตรเช้าทำวัตรเย็น หรือไม่ไปบิณฑบาต ก็ถูกเรียกมาตักเตือน ซึ่งสามเณรไม่กล้าดื้อกับท่าน แต่รองเจ้าอาวาสจะดุมาก สามเณรไม่ค่อยกล้าเข้าไปหาท่านสักเท่าไร 

 ในพรรษานี้มีพระภิกษุสามเณรจำพรรษาประมาณ ๕๐ รูป ได้มาอยู่ที่นี่ ๑ พรรษา มีโอกาสเรียนบาลีและสอบได้นักธรรมตรีในปีนี้เอง  



 และแล้วจุดเปลี่ยนของชีวิตของข้าพเจ้าได้มาถึงในช่วงปลายปี  ๒๕๓๐ นี้เอง เรื่องก็มีอยู่ว่า มีลูกชายของสาธุชนที่บ้านอยู่ใกล้วัดมะนาวหวาน ได้ไปเรียนที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พอเรียนจบก็ไปบวชที่วัดพระธรรมกาย ท่านชื่อว่า หลวงพี่เบญจพล ปญฺจพโลได้เดินทางมาเยี่ยมบ้านในเดือนพฤศจิกายน ปี ๒๕๓๐ โดยมาพักที่วัดมะนาวหวาน ช่วงนั้นมีงานทอดกฐินที่วัดพอดี ท่านจึงได้นำวีดีโอเกี่ยวกับวัดพระธรรมกายมาให้พระภิกษุสามเณรที่วัดดู และได้กราบเรียนหลวงพ่อเจ้าอาวาสว่า ขณะนี้ที่วัดพระธรรมกายเปิดรับสามเณรให้เข้าไปเรียนบาลี หลวงพ่อสามารถส่งสามเณรไปเรียนบาลีได้   ซึ่งปกติในปีก่อนๆ  หลวงพ่อจะส่งสามเณรไปเรียนบาลีที่อ.หลังสวน จ.ชุมพร แต่ปีนี้ท่านไม่ได้ส่งไปไหน 

 พอท่านได้ทราบข่าวว่า ที่วัดพระธรรมกายเปิดรับสามเณรไปเรียนบาลี ท่านก็มีความคิดว่า ควรจะให้สามเณรได้มีโอกาสไปเรียนบาลีในสำนักเรียนที่มีคุณภาพอยู่ใกล้เมืองหลวง จึงแจ้งให้สามเณรทราบว่า ถ้าใครอยากไปเรียนบาลีที่วัดพระธรรมกายก็ให้มาสมัครได้ โดยมีคุณสมบัติคือ ต้องเรียนจบป.๖ และสอบได้นักธรรมตรีแล้ว มีสามเณรมาสมัครไปเป็นจำนวนมาก แต่ที่มีคุณสมบัติพร้อม มีเพียง ๒๑ รูป 

สรุปว่าปีนั้นสามเณรจากวัดมะนาวหวาน จะได้ไปอยู่วัดพระธรรมกายจำนวน ๒๑ รูป
                                                                                           
ข้าพเจ้านั้นพอได้ดูวีดีโอของวัดพระธรรมกายที่หลวงพี่ท่านนำฉายให้ดู รู้สึกชอบวัดนี้มาก ตอนเด็กๆเคยฝ่ฝันอยากมีบ้านอยู่ริมภูเขามีสายน้ำไหลผ่านหน้าบ้าน ในวีดีโอได้เห็นพระเดชพระคุณหลวงพ่อทัตตชีโว นั่งเทศน์หน้าน้ำตก และได้เห็นภาพในหนังสือกัลยาณมิตร ที่หลวงพี่ท่านนำมาให้ดู เป็นภาพสามเณรนั่งสมาธิใต้กลดที่ปักอยู่ริมลำธาร บรรยากาศดีมากๆ คิดในใจว่า นี้แหละวัดในฝันของเรา เราจะต้องไปที่นี่ให้ได้ พอหลวงพ่อแจ้งให้สมัครไปวัดพระธรรมกาย ก็รีบสมัครเลย โดยหลวงพ่อกำหนดให้เดินทางไปในวันที่ ๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๑ คืออีกสองเดือนข้างหน้า 

และวันที่จะต้องเดินทางไปวัดพระธรรมกายก็มาถึง พวกเราเหล่าสามเณรทั้ง ๒๑ รูปตื่นเต้นกันมากเพราะจะได้เดินทางเข้ากรุงเทพมหานครอันเป็นเมืองหลวงของประเทศไทย เป็นครั้งแรกในชีวิตที่จะได้เข้าเมืองหลวง พอถึงกำหนดวันเดินทาง หลวงพ่อพระครูสถิตวิหารธรรมเจ้าอาวาสก็ได้เรียกสามเณรทั้งหมดที่จะไป ให้มาพร้อมกันที่กุฏิของท่านเพื่อให้โอวาทก่อนเดินทางไกล ท่านได้ฝากข้อคิดไว้ ๓ ข้อคือ 
๑.คนอื่นอยู่ได้เราต้องอยู่ได้
 ๒.คนอื่นทำได้เราต้องทำได้
 ๓.คนอื่นเรียนได้เราต้องเรียนได้ 
โอวาทนี้ข้าพเจ้าจำได้ขึ้นใจและได้นำมาใช้จริงๆได้ผลดีมากๆครับ ซึ่งจะเล่าให้ฟังในตอนต่อไปครับ


  ขอบคุณภาพจาก Google.com
  อ.อินทปัญญา 
    ๑๐ ส.ค.๕๙

16 comments:

  1. สาธุ เจ้าค่ะ สมัยก่อน บ้านวัดโรงเรียน มีความเชื่อมโยงที่แน่นแขว้นมาก หาก เปรียบกับสมัยนี้

    ReplyDelete
  2. สาธุ เจ้าค่ะ สมัยก่อน บ้านวัดโรงเรียน มีความเชื่อมโยงที่แน่นแขว้นมาก หาก เปรียบกับสมัยนี้

    ReplyDelete
  3. จากสามเณรน้อยที่น่ารัก บัดนี้เติบโตเป็นพระมหาเถระ สมณะ ที่งดงาม ฉลาด ขยัน เป็นต้นบุญต้นแบบ เป็นเนื้อนาบุญ แก่ทุกคน สาธุ ค่ะ

    ReplyDelete
  4. ดีมากๆค่ะ สนุกดีเจ้าค่ะ

    ReplyDelete
  5. สาธุ สาธุ สาธุเจ้าค่ะ
    ตอนต่อไปคงสนุกแน่นอน

    ReplyDelete
  6. ชอบอ่านเรื่องของพระลูกชายของหลวงพ่อค่ะ เรื่องนี้เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่เปิดตัวได้อย่างน่าสนใจ

    ReplyDelete
  7. กราบสาธุเจ้าค่ะ ปลื้มใจมากทั้งรักและเคารพทุกรุปทีมีวันนี้ให้โยมได้กราบอย่างสนิทใจ และเป็นเนื้อหนาบุญให้ได้สังสมบุญยิ่งๆขึ้นไป ขอกราบนมัสการและอนุโมทนาบุญกับทุกรุปเจ้าค่ะสาธุ

    ReplyDelete
  8. กราบสาธุๆๆเจ้าค่ะ

    ReplyDelete
  9. กราบสาธุๆๆเจ้าค่ะ

    ReplyDelete
  10. อุปสรรคเป็นบททดสอบบารมี ของนักสร้างบารมีรุ่นเบิกจริงๆๆเลยขอรับ เป็นอุปบารมีอันยิ่งทรงคุณค่ามิรู้ลืม กราบอนุโมทนากับพระอาจารย์ผู้มีจิตมุ่งมั่นไม่หวั่นไหว แม้จะลำบากเพียงไรก็ยังคงเป็นดั่งเพชรที่ได้รับการเจียรนัยอย่างดียิ่ง สาธุ สาธุ

    ReplyDelete
  11. อุปสรรคเป็นบททดสอบบารมี ของนักสร้างบารมีรุ่นเบิกจริงๆๆเลยขอรับ เป็นอุปบารมีอันยิ่งทรงคุณค่ามิรู้ลืม กราบอนุโมทนากับพระอาจารย์ผู้มีจิตมุ่งมั่นไม่หวั่นไหว แม้จะลำบากเพียงไรก็ยังคงเป็นดั่งเพชรที่ได้รับการเจียรนัยอย่างดียิ่ง สาธุ สาธุ

    ReplyDelete
  12. ปลื้มมากๆๆๆค่ะ หลวงพ่อ หลวงพี่ เจียระไนมาอย่างดี สามเณรที่ผ่านมาถึงทุกวันนี้ เป็นพระอจ.เพชรแท้ จริงๆค่ะ กราบๆๆ

    ReplyDelete
  13. ท่านคือเพชรนํ้าหนึ่งของหลวงพ่อทั้งสอง พระมหา ดร. ปธ.10 หาไม่ได้ง่ายนะคะ
    กราบ กราบ กราบ พระอาจารย์ด้วยความเคารพอย่างสูง

    ReplyDelete
  14. น่าติดตาม อ่านเพลินเลยครับ

    ReplyDelete
  15. ขอน้อมนำบุญทุกบุญที่ได้ทำมาฝากทุกท่านครับ

    ReplyDelete